วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559


โครงการพระราชดำริ ธนาคารโค-กระบือ
"...ธนาคารโคและกระบือ ก็คือ การรวบรวมโคและกระบือ โดยมีบัญชีควบคุม ดูแลรักษา แจกจ่ายให้ยืม เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตร และเพิ่มปริมาณโคและกระบือ ตามหลักการของธนาคารโคและกระบือเป็นเรื่องใหม่ ของโลกที่มีความจำเป็นเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันมีความคิดแต่จะใช้เครื่องกลไก เป็นเครื่องทุ่นแรงในกิจการเกษตร แต่เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น ความก้าวหน้าในการใช้เครื่องกลไกเสียไป จำเป็นต้องหันมาพึ่งแรงงานจากสัตว์ ที่เคยใช้อยู่ก่อน เมื่อหันกลับมาเป็นปรากฎว่ามีปัญหามาก เพราะชาวนาไม่มีเงินซื้อโค กระบือมาเลี้ยงเพื่อใช้แรงงาน..." (พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ณ บริเวณโครงการส่วนประองค์สวนจิตรลดา ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๒๓)
โค-กระบือ มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตการผลิตของสังคมไทยมาแต่โบราณ ถือได้ว่าเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญมาก เพราะเป็นแรงงานอย่างเดียว ซึ่งทำหน้าที่แทนเครื่องจักรกลช่วยให้แรงงานในกระบวนการผลิตข้าวเกือบทุกขั้นตอน ตั้งแต่ไถพรวน นวดข้าว จนกระทั่งถึงการขนย้ายผลผลิต ในบางท้องที่ยังใช้แรงงานจากโค-กระบือ ฉุดลากเครื่องทุ่นแรงในการสูบน้ำและใช้ลากเกวียน เพื่อการขนส่งในชนบททุรกันดารอีกด้วย เราเพิ่งตระหนักว่า โค-กระบือ มีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกรในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ที่ผ่านมานี้เอง ประมาณว่า มีความต้องการโค-กระบือ เพื่อใช้งานปีละ ๖-๘ ล้านตัว แต่ในปัจจุบันนั้น ทั่วประเทศมีการเลี้ยงโค-กระบือ เพื่องานดังกล่าวเพียง ๕ ล้านตัวเท่านั้น ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความก้าวหน้าและการขยายตัวของเทคโนโลยี ทำให้เกษตรกรหันมาใช้เครื่องจักร และเครื่องมือทุ่นแรงนานาชนิด ทดแทนการใช้แรงงานแบบดั้งเดิม

วิถีการผลิตแบบใหม่เช่นนี้ประสิทธิภาพและให้ผลผลิตสูง แต่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีระดับต่าง ๆ ต้องใช้พลังงานและจำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมากด้วย ดังนั้นสำหรับเกษตรกรที่มีฐานะยากจน มีพื้นที่ทำกินขนาดเล็ก จะไม่สามารถดำเนินวิถีการผลิตเช่นนี้ได้ ในขณะเดียวกันก็พลอยได้รับผลกระทบจากแนวโน้นการเปลี่ยนที่เกิดขึ้น ไปด้วย เพราะโค-กระบือ ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของวิถีการผลิตแบบดั้งเดิม กลายเป็นสิ่งหายากและมีราคาสูง จากการศึกษาของธนาคารโลกพบว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเกษตรกรร้อยละ ๒๐ ที่ไม่มีโค-กระบือเป็นของตนเอง ต้องเช่าโค-กระบือเสียค่าเช่าในอัตราสูงคิดเป็นข้าวเปลือก ๕๐-๑๐๐ ถังต่อปี บางครั้งผลผลิตที่ได้ ก็ไม่เพียงพอที่จะชำระค่าเช่า ทำให้เกษตรกรเกิดภาระหนี้สิน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความยากจนและความเดือนร้อนในการดำรงชีวิต
แนวพระราชดำริ เกี่ยวกับโครงการธนาคารโค-กระบือ
ปัจจุบัน ธนาคารโค-กระบือ เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางขึ้น ว่าเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรยากจนที่ไม่มีโค-กระบือ เป็นของตนเอง โดยการแบ่งเบาภาระค่าเช่า หรือดำเนินการเพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสได้เป็นเจ้าของโค-กระบือเพื่อใช้แรงงานต่อไป
คนทั่วไปมักจะนึกว่า ธนาคารเป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับกกระแสเงินตรา แต่สำหรับธนาคารโค-กระบือ นี้ ขออัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานแก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ อันเป็นที่มาของคำว่า "ธนาคารโค-กระบือ"ดังต่อไปนี้


"ธนาคารโคและกระบือก็คือ การวบรวมโคและกระบือ โดยมีบัญชีควบคุมดูแลรักษาแจกจ่ายให้ยืม เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตรและเพิ่มปริมาณโคและกระบือตามหลักการของธนาคาร ธนาคารโคและกระบือเป็นเรื่องใหม่ของโลกที่มีความเป็นเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันมีความคิดแต่จะใช้เครื่องกลไกเป็นเครื่องทุนแรงในกิจการเกษตร แต่เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น ความก้าวหน้าในการใช้เครื่องกลไกเสียไป จำเป็นต้องหันมาพึ่งแรงงานจากสัตว์ที่เคยใช้อยู่ก่อน เมื่อหันกลับมาก็ปรากฎว่า มีปัญหามากเพราะชาวนาไม่มีเงินซื้อโคและกระบือมาเลี้ยงเพื่อใช้แรงงาน ธนาคารโคและกระบือพอจะอนุโลมใช้ได้เหมือนธนาคารที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน เพราะโดยความหมายทั่วไป ธนาคารก็ดำเนินกิจการเกี่ยวกับสิ่งทีค่ามีประโยชน์ การตั้งธนาคารโคและกระบือ ก็มิใช่ว่าตั้งโรงขึ้นมาก็บโคและกระบือ เพียงแต่มีศูนย์กลางขึ้นมา เช่น อาจจัดให้กรมปศุสัตว์เป็นศูนย์รวม"



รัฐบาลโดยกรมปศุสัตว์ ได้เริ่มดำเนินการตามโครงการธนาคารโค-กระบือตามพระราชดำริ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เมื่อเริ่มดำเนินการได้ใช้กระบือของกรมปศุสัตว์จำนวน ๒๘๐ ตัว ไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากจนในพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี โดยการให้เช่าซื้อและผ่อนส่งใช้คืนในระยะเวลา ๓ ปี หลังจากนั้นได้มีผู้ร่วมบริจาคสมทบโครงการอีกจำนวนมาก โครงการจึงขยายไปดำเนินงานในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
ปัจจุบัน ธนาคารโค-กระบือ ตามพระราชดำริ มีวิธีการให้บริการแก่เกษตรกรในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้คือ
๑. การให้เช่าซื้อผ่อนส่งระยะเวลายาว เกษตรกรที่ยากจนที่ใคร่จะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของโค-กระบือของตนเอง ทางธนาคารฯ จะจัดหาโค-กระบือ มาจำหน่ายให้ในราคาถูก โดยเกษตรกรจะต้องผ่อนส่งใช่เงินคืนให้แก่ธนาคารฯ โดยการผ่อนส่งในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งผู้ซื้อจะต้องให้ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันหรือผู้อื่นที่เชื่อถือได้ เป็นผู้ค้ำประกันการผ่อนชำระดังกล่าว
๒. การให้เช่าเพื่อใช้งาน
เกษตรกรที่ไม่มีโค-กระบือ ใช้งานของตนเอง อาจจะติดต่อขอเช่าโค-กระบือ จากธนาคารฯ ไปใช้งานได้โดยทางธนาคารฯ จะพิจารณาให้เช่าในราคาถูก แต่ผู้เช่าจะต้องมีผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน หรือผู้อื่นที่เชื่อถือได้เป็นผู้ค้ำประกันไว้กับธนาคารโค-กระบือ นี้
๓. การให้ยืมเพื่อทำการผลิตพันธุ์
เกษตรกรที่ยากจน หากต้องการจะยืมโค-กระบือ เพศเมีย จากธนาคารฯ ไปใช้เลี้ยงเพื่อผลิตลูกโค-กระบือ ก็อาจติดต่อขอยืมโค-กระบือจากธนาคารฯ ได้โดยผู้ยืมจะต้องแบ่งลูกโค-กระบือ ที่คลอดออกมาคนละครึ่งกับธนาคารฯ โดยลูกตัวที่ ๑, , ๕ ฯลฯ จะเป็นของธนาคารฯ ส่วนลูกตัวที่ ๒, , ๖ ฯลฯ จะเป็นของเกษตรกร ทั้งนี้ ผู้ยืมจะต้องให้ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน หรือผู้ที่เชื่อถือได้ค้ำประกันไว้กับธนาคาร
๔. การยืมใช้งาน เกษตรกรหรือทหารผ่านศึกที่ยากจน ไม่สามารถจะช่วยตนเองได้จริง ๆ อาจติดต่อขอรับความช่วยเหลือขอยืมโค-กระบือ ไปใช้งานได้ โดยธนาคารฯ จะได้จัดเจ้าหน้าที่ไปพิจารณา ให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษเป็นราย ๆ ไป
การจัดตั้งธนาคารโค-กระบือ แต่ละแห่งจะเริ่มต้นด้วยสมาชิกอย่างต่ำสุด ๑๐ ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรยากจน อยู่ในพื้นที่ที่มีความเดือดร้อนในการหาโค-กระบือเพื่อมาใช้งาน คณะกรรมการหมู่บ้านจะเป็นผู้คัดเลือกผู้ที่มีฐานะยากจน มีความประพฤติดี ขยันหมั่นเพียรและไม่มีโค-กระบือของตนเอง จัดเรียงลำดับไว้ ธนาคารฯ จะจัดสรรโค-กระบือให้แก่ราษฎรในหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกไว้แล้วตามจำนวนโค-กระบือ ที่ธนาคารฯ มีอยู่ ซึ่งได้รับบริจาคจากประชาชนทั่วไป หรือจากงบประมาณของรัฐ ผู้ที่ยังไม่ได้รับโค-กระบือจากธนาคารฯ ในครั้งแรก ก็จะมีโอกาสได้รับในคราวต่อไป เมื่อธนาคารฯ มีโค-กระบือเพิ่มขึ้น
ธนาคารโค-กระบือในหมู่บ้านที่มีการบริหารและการจัดการโครงการที่ดี ก็จะเกิดผลประโยชน์เพิ่มพูนขึ้น ลูกโค-กระบือที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นของธนาคารโค-กระบือ ได้นำไปหมุนเวียนให้บริการแก่เกษตรกรรายอื่น ๆ ต่อไป การดำเนินงานในลักษณะนี้ ทำให้โครงการธนาคารโค-กระบือ เกิดผลประโยชน์ต่อเนื่องไม่สิ้นสุด เกษตรกรได้รับบริการอย่างทั่วถึง โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก
สรุป
ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากธนาคารโค-กระบือ นั้น ส่งผลโดยตรงกับตัวเกษตรกรที่ยากจน คือ ได้ช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถมีปัจจัยการผลิตเป็นของตนเอง ไม่ต้องเสียค่าเช่าแรงงานโค-กระบือ ในอัตราสูง เป็นหลักประกันอย่างหนึ่ง ซึ่งเอื้ออำนวยให้การผลิตเกิดผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วนผลประโยชน์ทางอ้อมนั้น เกิดขึ้นจากการเลือกใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมในการพัฒนา เพราะแรงงานแบบดั้งเดิมนี้ เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับระบบเกษตรกรรมเบบยังชีพ ซึ่งเกษตรกรมีฐานะยากจน และมีพื้นที่ทำกินขนาดเล็ก แรงงานแบบดั้งเดิมนี้ ไม่ต้องการความรู้ทางเทคนิค วิชาการขั้นสูงใด ๆ ในการบำรุงรักษา การใช้แรงงาน โค-กระบือ ในการทำนา ปลูกข้าว เป็นลักษณะของการอยู่ร่วมกันและการพึ่งพากันตามธรรมชาติ เกษตรกรสามารถเรียนรู้ได้เองจากการดำรงชีพ อีกทางหนี่ง การใช้แรงงานสัตว์ก็เป็นการเลือกใช้พลังงานจากธรรมชาติแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นทรัพยากรที่นับวันจะเหลือน้อยลงไป และมีราคาสูงขึ้น ดูจะเป็นประโยชน์หลายทาง ซึ่งสอดคล้องกันอย่างพอเหมาะยิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น